
ขอเชิญร่วมทำบุญต่อยอดฉัตรทองคำ
พระธาตุหล้าหนอง วัดธาตุ ต.หาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบุญได้ โดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์
ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยบิ๊กเจียงหนองคาย
ชื่อ บัญชี : กองทุนยอดฉัตรทองคำ พระธาตุหล้าหนอง
เลขบัญชี : 496-0-13776-2
( ฝ่ายประสานงานฯ โทร. 042-412908, 085-0129251 )
ขออนุโมทนาในกุศลทานบารมีของท่านที่ได้ร่วมทำบุญครั้งนี้ และมีส่วนร่วมสร้างยอดฉัตรทองคำเพื่อฝากไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
อันมียอด ฉัตรสูงสุดเปรียบเสมือนหลักชัยแห่งความสำเร็จ ขอให้ท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไปเทอญ
พระธาตุหล้าหนอง อ.เมืองหนองคาย"พระธาตุหล้าหนอง หรือ พระธาตุกลางน้ำ"ที่ชาวหนองคาย รู้จักและให้ความเคารพศรัทธากันมาหลายชั่วอายุคนนั้น หากจะย้อนไปศึกษาประวัติพระธาตุองค์นี้จะพบว่า ในหนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์
พระอรหันต์ทั้ง 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมาพร้อมกัน และได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้พร้อมกัน 6 แห่ง คือ ที่พระธาตุหอผ้าหอแพ บ้านทรายฟอง เมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว, พระธาตุหัวเหน่า 29 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว, พระอุรังคธาตุ หรือพระธาตุหน้าอก บรรจุไว้ที่พระธาตุพนม อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม, พระธาตุบังคล หรือกระเพาะอาหาร บรรจุไว้ที่พระธาตุบังพวน วัดพระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย, พระธาตุเขี้ยวฝาง 7 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุโพนจิกเวียงงัว อ.เมืองหนองคาย และพระธาตุฝ่าพระบาทเบื้องขวา 9 องค์ บรรจุไว้ที่พระธาตุเมืองลา หรือพระธาตุหล้าหนอง อ.เมืองหนองคาย โดยพระธาตุหล้าหนองนี้ตั้งอยู่กลางบริเวณวัดธาตุ หรือวัดสิริมหากัจจายน์ ชุมชนวัดธาตุ เทศบาลเมืองหนองคาย
"พระเทพมงคลรังษี" เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์เจดีย์พระธาตุพนม อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งบริเวณวัดธาตุแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พอถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวกรากจะกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุจนพัง ทลายหายไป ซึ่งตามประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนอง และพระธาตุได้พังลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ร.ศ.66 จ.ศ.1209 พ.ศ.2309 ซึ่งนายฟรองชีวการ์นิเยร์ ชาวฮอลันดา หนึ่งในคณะสำรวจอินโดจีนในอาณาจักรล้านช้าง ได้วาดภาพลายเส้นของพระธาตุหล้าหนองนี้ไว้เมื่อปีพ.ศ.2411 พร้อมคำบรรยายภาพว่า "ปิรมิด หรือองค์พระธาตุตั้งอยู่บนพื้นที่รูปครึ่งวงกลมที่ถูกตัดขาดจากฝั่งแม่น้ำ ด้านขวา หรือฝั่งไทย โดยปิรมิดแห่งนี้ถูกน้ำพัดขาดจากที่ตั้งเดิมบนริมฝั่งสิบปีมาแล้วและยัง เอียงลงสู่น้ำราวกับเรืออับปางที่พร้อมจะจมลง"
พระธาตุกลางแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย
จากการสำรวจของกลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ 4 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร เมื่อ 19-27 เม.ย.2538 ทราบว่าพระธาตุหล้าหนอง อยู่ในเขตปกครองของอำเภอเมืองหนองคาย
ปัจจุบัน จมอยู่กลางแม่น้ำโขง องค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร
"พระธาตุ หล้าหนอง" เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคาย และชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุในทุกปี คือประเพณีบุญบั้งไฟ เดือน 6 เพื่อจุดถวายองค์พระธาตุ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ถวายปราสาทผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และการแข่งเรือยาววันออกพรรษาทุกปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=2849.0
http://udoninfo.com/index.php/news-a-events/news/453-2010-12-15-02-54-08